สาเหตุอาการเจ็บป่วยของนกลูกป้อนอาจเกิดมาจากการดูแลที่ขาดความรอบคอบ เช่น เก็บนกไว้ในห้องแอร์ที่เย็นเกินไป โดนแดดส่องจนร้อนเกินไป หรือปัญหาที่เกิดจากอาหารลูกป้อนและอุปกรณ์ไม่สะอาด รวมถึงสภาพร่างกายของนก และเหตุไม่คาดฝันอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ขอสรุปอาการป่วยที่พบบ่อย และแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้น ได้ดังนี้
อาหารไม่ย่อย
เป็นอาการป่วยและทำให้นกเสียชีวิตอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะกับนักป้อนมือใหม่ที่อาจยังไม่รู้วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น อาการอาหารไม่ย่อยอาจมาจากสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น อาหารลูกป้อนไม่สุกดีพอ อาหารข้นเกินไป นกกินอาหารมากเกินไปจนไม่สามารถย่อยได้ทันในมื้อนั้น ๆ นกอยู่ในบริเวณอากาศเย็นเกินไปอย่างห้องแอร์ ทำให้ระบบย่อยทำงานได้ไม่ดีพอ หรือแม้กระทั่งอาหารไม่มีคุณภาพ ล้วนทำให้อาหารในกระเพาะพักไม่ย่อย จนอาจบูดเน่า และนกตายได้
ยังโชคดีว่า หากผู้เลี้ยงมีความรอบคอบมากพอก็จะสังเกตได้ในระยะแรกตั้งแต่ก่อนป้อนอาหารว่าอาหารยังย่อยไม่หมด สามารถคลำพบอาหารในกระเพาะพักของนก (ถุงบริเวณหน้าอก) บางครั้งอาจเป็นอาหารเหลว หรืออาหารจับตัวเป็นก้อน ซึ่งนักป้อนไม่ควรมองข้ามสิ่งบ่งชี้ดังกล่าว
เมื่อพบอาหารยังตกค้างในกระเพาะพัก หากมีเพียงเล็กน้อยก็สามารถป้อนอาหารใหม่ให้ลูกนกเพิ่มได้ แต่ควรชงอาหารให้เหลวกว่าปกติเล็กน้อย
แต่หากยังมีอาหารในกระเพาะพักอยู่เยอะ หรือพบว่าอาหารจับตัวกันเป็นก้อน ให้นำนํ้าอุ่น (ระวังอย่าให้ร้อน) อุณหภูมิราว 36-38 องศาเซลเซียส ป้อนให้นกกินแทน แล้วนวดกระเพาะให้นํ้าอุ่นและอาหารเดิมละลายเข้ากัน นํ้าอุ่นจะช่วยให้อาหารละลายและเข้าสู่กระบวนการย่อยได้ง่ายขึ้น หรืออาจจะกกไฟให้กับนกเพื่อเพิ่มความอบอุ่นด้วยก็ยิ่งดี อุณภูมิที่เหมาะสมจะช่วยกระตุ้นระบบการย่อยอาหารให้ดีและเร็วขึ้น
แต่หากในกรณีที่เลวร้ายมากกว่านั้น เช่น อาหารไม่ย่อยเป็นเวลานานมากกว่า 2 มื้อติดกัน นกไม่ยอมรับอาหารใหม่ หงอยซึม เป็นสัญญาณว่านกกำลังป่วยหนักจะต้องได้รับการดูแลให้ถูกวิธี เช่น ดูดอาหารเก่าออกจากกระเพาะพักออกให้หมด แล้วป้อนนํ้าอุ่น หรืออาจจะต้องใช้ยาช่วยย่อย ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยสัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น นักป้อนมือใหม่ไม่ควรแก้ปัญหาเอง และที่สำคัญคือ นกควรได้รับการดูแลในทันที ไม่ควรผลัดเวลาออกไปแม้แต่ชั่วโมงเดียว
ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงควรเสาะหาสาเหตุของปัญหาอาหารไม่ย่อยในแต่ละกรณีด้วย เพื่อจะได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุต่อไป
อาหารไหลลงหลอดลม
อาการนี้พบได้ในการป้อนนกโดยใช้หลอดฉีดยา การใช้ใส่ไก่ และนกที่ีรีบร้อนกินอาหารเร็วเกินไปจนสำลัก
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า หลอดลมและหลอดอาหารอยู่ติดกันและมีช่องเปิดถึงกันเช่นเดียวกับคน (ซึ่งทำให้เราสามารถหายใจทางปากได้) หากเป็นมนุษย์ เราก็สามารถไอและขย้อนเอาอาหารที่หลุดเข้าไปในหลอดลมกลับมาในลำคอได้ แต่เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้สำหรับลูกนก จนตายได้ง่ายมากในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง หรือเพียงไม่กี่นาทีในบางกรณี
หากในกรณีที่ไม่รุนแรงมากนัก เมื่อป้อนอาหารเสร็จแล้วพบว่านกมีอาการไอ สำลักหลายครั้ง บางทีอาจเห็นเศษอาหารออกมารอบๆ รูจมูก หากอาหารไหลลงหลอดลมเพียงเล็กน้อย นกจะสำลักออกมาเองได้
แต่ในบางกรณี เช่น หากฉีดอาหารเข้าปากนกแรงเกินไป หรือใช้ใส้ไก่หย่อนเข้าหลอดลม แทนที่จะเป็นหลอดอาหาร จนทำให้อาหารจำนวนมากไหลลงหลอดลม ตรงเข้าสู่ปอดจำนวนมากในคราวเดียว จนทำให้นกหายใจไม่ออก พยายามไอและสำลักอาหาร ก่อนที่ลำตัวจะเหยียดตรง แล้วตายได้เกือบจะในทันที
นกหนาวเกินไป
ปกติแล้ว แม่หรือพ่อนกจะกกลูกไว้ โดยเฉพาะช่วงคํ่า เพื่อเพิ่มความอบอุ่นและทำให้ระบบการย่อยอาหารของนกดีขึ้น ยิ่งสำหรับลูกนกขนาดเล็กที่ยังไม่มีขนคลุมยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่หากนกลูกป้อนที่เราดูแลได้รับความอบอุ่นไม่เพียงพออาจโดนลมหรืออยู่ในห้องปรับอากาศก็อาจทำให้นกอ่อนแอได้ เช่น เป็นหวัด ซึม หงอย ตัวสั่น อาหารไม่ย่อยยกหัวไม่ขึ้นจนอาจตายได้ ดังนั้นควรเก็บนกไว้ที่อุณภูมิที่เหมาะ ราว 32-35 องศาเซลเซียส และควรกกไฟให้ลูกนกที่ยังไม่มีขนคลุม จะช่วยลดความเสี่ยงได้มาก
นกจิกกัน
โดยปกติแล้ว ลูกนกมักจะไม่มีนิสัยดุร้าย นอกจากจะเป็นนกที่มีขนาดต่างกันมาก ดังนั้นเจ้าของไม่ควรเก็บนกที่มีขนาดต่างกันมากเกินไปอยู่ในที่เดียว ควรแยกนกแต่ละขนาดไว้ในภาชนะเดียวกัน แต่หากมีนกตัวไหนเคราะห์ร้ายถูกนกตัวอื่นจิกจนเลือดไหลได้แผล เจ้าของก็สามารถช่วยปฐมพยาบาลให้นกได้ด้วยการใช้สำลีชุบยาสำหรับแผลสด เช่น เบตาดีน แล้วทาให้ทั่วแผล ก่อนจะแยกนกไว้ต่างหาก แต่หากนกได้รับบาดเจ็บรุนแรง เช่น ขาหรือปีกหัก ก็ควรนำไปพบหมอทันที
นกขาถ่าง
จริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเจ็บป่วย แต่เป็นปัญหาด้านกายภาพทางร่างกายมากกว่า เมื่อตอนนกยังเล็กขนยังไม่งอกนั้น แข้งขาจะยังไม่มีแรง ขาจึงฉีกออกกว้าง ในขณะที่บางตัวนอนเอาขาชี้ฟ้ารอแม่มาป้อนอาหารก็มี แต่เมื่อนกโตขึ้น กระดูกแข็งแรง แข้งขาก็เริ่มมีแรงจึงสามารถยืนขาตรงใช้นิ้วจิกพื้นรังทรงตัวได้ด้วยตัวเอง
แต่ในนกเหล่านี้ก็มีบางตัวที่ไม่สามารถเหยียดขาได้ตรง จนเกิดอาการ ‘ขาถ่าง’ ทำให้ขาไม่สามารถตั้งตรง 90 องศาได้ ด้วยสาเหตุหลัก ๆ เช่น นกขาดแคลเซียม ทำให้กระดูกไม่แข็งแรง หรือนกอยู่ในรัง/กล่องที่ไม่มีวัสดุรองพื้นมากพอให้ขานกได้ยึดเกาะ ในบางกรณีก็เกิดจากสองสาเหตุรวมกัน
หากนกยังไม่ได้รับการบำบัดต่อไปจนโต จะทำให้นกไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่สามารถผสมพันธ์ุได้
ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ไม่ยากนักหากนกยังอยู่ในวัยเยาว์ ช่วงวัยที่เหมาะสมที่สุดคือไม่เกินนกขนาดขนพู่กัน
ทันทีที่พบว่านกน้อยของคุณมีอาการขาถ่าง ให้จับนกแยกออกมาเก็บไว้ต่างหาก แล้วแก้ไขด้วย 3 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 นำนกมาใส่ในภาชนะขนาดเล็ก พอดีตัว ไม่กว้างเกินไปจนนกหมุนได้รอบตัว เพื่อให้ขานกได้ยืนชิดจรดภาชนะได้พอดีตลอดเวลา
วิธีที่ 2 หากเป็นนกขนาดกลาง ให้นำหลอดกาแฟมาตัดออกเป็นท่อน ความยาวประมาณ 0.5 ซม. สองท่อน เชื่อมร้อยทั้งสองท่อนนี้ด้วยเส้นด้า ความยาวราว 3-4 ซม. หรือกะความยาวให้นกสามารถยืนได้ แล้วนำห่วงทั้งสองนี้ไปใส่ไว้กับขานก
วิธีที่ 3 ใช้ฟองนํ้านุ่ม ๆ (คล้าย ๆ กับฟองนํ้าสกอตไบรท์สีขาว ๆ ที่ใช้ล้างจาน) ตัดเป็นชิ้นบาง ๆ ความยาวให้พอดีกับขนาดความกว้างของลำตัวนก เจาะรูสองรูเพื่อใส่ขานก ความห่างของแต่ละรูให้พอดีที่นกจะยืนได้โดยขาไม่ถ่าง แต่ไม่ชิดเกินไปจนทรงตัวไม่ได้ (กะให้ความชันของขานกราว 70-80 องศา)
ทุกวิธีจะใช้เวลาในการบำบัดประมาณ 2-4 วัน เพื่อให้นกคุ้นชินกับความกว้างในการถ่างขาสำหรับยืน แต่หากวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล แนะนำให้ท่านปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือสัตวแพทย์ต่อไป
เป็นเรื่องสำคัญมากที่ท่านต้องแยกนกตัวที่ป่วยออกมาเก็บไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ให้นกได้พักผ่อนเพียงพอ ดูแลรักษาเบื้องต้นตามคำแนะนำ กกไฟเพื่อให้ความอบอุ่นและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และพาไปหาสัตวแพทย์ทันทีหากอาการไม่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ทันทีที่ท่านเริ่มเลี้ยงนก ก็ควรศึกษาหาความรู้ว่าในพื้นที่นั้นมีโรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกสัตว์อยู่ที่ไหนบ้าง สถานพยาบาลไหนบ้างที่รับรักษานกแก้ว (เพราะมีบางคลินิกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะการรักษาสุนัขและแมวเท่านั้น) จดเบอร์โทรไว้เพื่อสอบถามการดูแลเบื้องต้น อย่ารอจนกว่าจะเกิดเหตุร้ายแล้วจึงเพิ่งหาว่ามีคลนิกสัตว์อยู่ที่ไหนบ้าง เพราะบางครั้งอาจไม่ทันการณ์
ผู้เขียน : นิพนธ์ รัตนาคม
บทความจากหนังสือ: การดูแลนกแก้วลูกป้อน สำหรับผู้เริ่มเลี้ยง
ติดตามบทความใหม่ๆผ่าน LINE ได้ที่ @vitapets (กดปุ่มด้านล่าง)
สนใจสั่งซื้อหนังสือ การดูแลนกแก้วลูกป้อน สำหรับผู้เริ่มเลี้ยง คลิกภาพด้านบน
Comments